พระมหากรุณาธิคุณในการพระราชทานแนวทางการอนุรักษ์
        พระกรณียกิจในการเสด็จประพาสจังหวัดภูเก็ต ของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ในครั้งที่ ๑ ได้สร้างความตระหนักในธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ของจังหวัดภูเก็ต นับแต่ภาพแรก ที่สองพระองค์ทรงเรือขนานยนต์ สายพระเนตรที่ทอดยังน้ำทะเลช่องปากพระ และพระบาทของสองพระองค์ที่ทรงย่ำทราย บนชายหาดสุรินทร์ บ่ายวันที่ ๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๐๒ ที่ทรงยิ้มแย้มพอพระทัยในธรรมชาติ ที่งดงามบริเวณหาดสุรินทร์ ภาพที่สมเด็จพระบรมราชินีนาถฯ ทรงกล้องถ่ายภาพด้วยพระองค์เองก ระตุ้นให้ราษฎรภูมิใจ และตระหนักในคุณค่าของความงาม ของทรัพยากรตามธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ทั้งในการเสด็จประพาสจังหวัดภูเก็ตครั้งที่ ๑ ของสองพระองค์ มีราษฏรนำกุ้งมังกร (กุ้งหัวโขน) ที่มีชีวิตมาถวายเพื่อการประกอบอาหาร มีรับสั่งให้นำเสด็จฯ ทรงปล่อยกุ้งหัวโขนที่ ตำบลท่าเรือ วันอังคารที่ ๑๐ มีนาคม ๒๕๐๒ ทรงปฏิบัติเป็นแบบอย่างให้แก่ประชาชน โดยเฉพาะการทรงชี้แนะทางอ้อม แก่ผู้ที่ประกอบอาชีพทางประมงชายฝั่ง ถึงการอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำ


        ปัจจุบันนี้การปล่อยสัตว์น้ำ เช่น กุ้ง ปู ปลา ยังเป็นแนวปฏิบัติอยู่ของส่วนราชการ และองค์กรอนุรักษ์ และชุมชนต่างๆ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงเสด็จไปทรงทอดพระเนตร ชายหาด และป่าชายเลน บริเวณหาดท่าหลา บ้านป่าคลอก ในวันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๐๒ ทรงสนพระทัย และเป็นแรงผลักดัน ให้ชุมชนชายฝั่งทะเล ที่ทำมาหากิน กับป่าชายเลน และแหล่งหญ้าทะเล ได้เกิดความภูมิใจ และตระหนักในการอนุรักษ์ทรัพยากร ในท้องถิ่นของตน ซึ่งพระมหากรุณาธิคุณ ดังกล่าวนี้ ส่งผลให้เยาวชน ในตำบลป่าคลอก ที่ได้ต้อนรับเสด็จฝังใจเกิดรักทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม จนเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ต่อมา ได้มีความตระหนักในการอนุรักษ์ป่าชายเลน และได้สนองโครงการที่ สมเด็จพระนางเจ้าพระราชินีนาถ ทรงมีพระราชเสาวนีย์ ถึงการอนุรักษ์ป่าไม้ชายเลน และมีโครงการมอบธง “พิทักษ์ป่า เพื่อรักษาชีวิต”
        ทำให้ชุมชนบ้านบางลา และบ้านป่าคลอก สนองแนวพระราชดำริฯ จนชุมชนทั้งสองต่างได้รับพระราชทานธง พร้อมเงินหนึ่งแสนบาท ซึ่งเป็นพลังให้ชุมชนอื่นๆ บริเวณชายฝั่งทะเลจังหวัดภูเก็ต ต่างอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งพระมหากรุณาธิคุณของสถาบันพระมหากษัตริย์ ส่งผลต่อความอุดมสมบูรณ์ ของทรัพยากรสัตว์น้ำ และส่งเสริมให้การประกอบอาชีพประมงชายฝั่ง ของภูเก็ตยั่งยืน ตลอดไป
        นอกจากนี้ ยังมีโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช โดยพระมหากรุณาธิคุณ ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงสนับสนุน “งานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน” โรงเรียนสตรีภูเก็ต ซึ่งเป็นโครงการหนึ่งในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช ที่พระองค์ทรงดำเนินงานทั้งนี้ได้ทรงเสด็จทอดพระเนตรงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียนตั้งแต่ ปี พ.ศ.๒๕๔๓ จำนวน ๓ ครั้ง ซึ่งสร้างความตระหนัก แก่เยาวชนในจังหวัดภูเก็ต อย่างกว้างขวาง