ประวัติความเป็นมา
        กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ได้จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติ การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ปีพุทธศักราช 2551 มีอำนาจหน้าที่และรับผิดชอบ เกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร เป็นองค์กรหลัก ในการบูรณาการ อำนวยการ และกำกับดูแลการปฏิบัติงานป้องกัน และแก้ไขปัญหาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อย ของประชาชน หรือความมั่นคงของรัฐ พร้อมทั้งดำเนินการเสริมสร้าง ให้ประชาชนตระหนักในหน้าที่ ที่จะเทิดทูน พิทักษ์และรักษาไว้ซึ่งสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ โดยให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมให้ประชาชน เข้ามามีส่วนร่วม ทั้งในการป้องกันและแก้ไขปัญหาต่างๆ และสนับสนุนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ด้วยการน้อมนำแนวทางพระราชทาน “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” และ “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง”เป็นหลักในการดำเนินงาน ซึ่งประวัติความเป็นมา ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคง ภายในราชอาณาจักร โดยสรุปมีดังนี้

         พ.ศ.2516 รัฐบาลมีนโยบายให้แปรสภาพ กองอำนวยการป้องกัน และปราบปรามคอมมิวนิสต์ (กอ.ปค.) เป็นกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน) แต่ยังคงให้มีอำนาจตาม พ.ร.บ. ป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ และยังคงมีความรับผิดชอบในภารกิจป้องกัน และปราบปรามคอมมิวนิสต์ต่อไป โดยมีการทบทวนวิเคราะห์ เพื่อพัฒนานโยบาย ตลอดจนยุทธศาสตร์และยุทธวิธี เพื่อให้สามารถยุติสถานการณ์ก่อการร้าย ให้สำเร็จลงโดยเร็ว

         พ.ศ.2523 ได้มีการปรับปรุงและพัฒนา และประกาศนโยบายการต่อสู้ เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์ เมื่อ 23 เมษายน พ.ศ.2523 (นโยบาย 66/23) ยึดถือปรัชญา “สันติภาพเป็นรากฐานของความมั่นคง และความมั่นคงอันถาวร เป็นบ่อเกิดแห่งความมั่นคงสมบูรณ์พูนสุข ของอาณาประชาราษฎร์ในราชอาณาจักร” (ตรงกับสมัย พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี)

         พ.ศ.2525 ภัยคุกคามจากคอมมิวนิสต์มีน้อยลง และมีการปรับปรุงโครงสร้างฯ คณะรัฐมนตรีได้ปรับบทบาทของ กอ.รมน. ให้ปฏิบัติภารกิจทางด้านการป้องกัน และปราบปรามยาเสพติดการจัดระเบียบและเสริมความมั่นคงชายแดน การพัฒนาเพื่อความมั่นคงเฉพาะพื้นที่ การแก้ปัญหาชนกลุ่มน้อยและผู้หลบหนีเข้าเมือง การแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ การแก้ปัญหาความขัดแย้งโดยสันติวิธี (หน่วยสันตินิมิต) การปฏิบัติงานด้านการข่าวและปฏิบัติการจิตวิทยา (ปจว.) (ตรงกับสมัย พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี)

         พ.ศ.2543 (1 เมษายน) มีมติ ครม.ให้ยกเลิก พ.ร.บ.ป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ (ตรงกับสมัย นายชวน หลีกภัย ดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี) พ.ศ.2544 คณะรัฐมนตรีปรับลดบทบาทของ กอ.รมน. ลง โดยเฉพาะการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และเพิ่มบทบาทด้านการประสานงาน มีการปรับโครงสร้าง กอ.รมน. จากเดิมโดยแต่งตั้งให้ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็น รอง ผอ.รมน.โดยตำแหน่ง ต่อมาแต่งตั้งปลัดกระทรวงมหาดไทย และ รอง ผอ.รมน.ฝ่ายการเมือง โดยให้มีตำแหน่งผู้ช่วย ผอ.รมน. 5 ตำแหน่ง คือ ผบ.ทบ., ผบ.ทร., ผบ.ทอ., ผบ.ตร. และอธิบดีกรมการปกครอง (ตรงกับสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี)

         พ.ศ.2545 คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 158/2545 ลงวันที่ 29 พฤษภาคม 2545 เรื่อง การจัดตั้งกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ตามที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติเสนอ (ตรงกับสมัย พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี)

         พ.ศ.2549 ได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 205/2549 ลงวันที่ 30 ตุลาคม 2549 เรื่องการจัดตั้งกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน โดยให้ยกเลิก คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี 158/2545 ลงวันที่ 29 พฤษภาคม 2545 โดยให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน เป็นหน่วยงานในสำนักนายกรัฐมนตรี โดยมี ผู้บัญชาการทหารบก เป็นผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (ผอ.รมน.) มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบบังคับบัญชาข้าราชการ และการดำเนินงานของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในและหน่วยงานในสายงาน (ตรงกับสมัย พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี) พ.ศ.2551 ภายหลังจากที่มีการบังคับใช้พระราชบัญญัติ การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร

         พ.ศ.2551 เป็นผลให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร เป็นส่วนราชการที่มีรูปแบบเฉพาะ ขึ้นในสำนักนายกรัฐมนตรี ภายใต้การบังคับบัญชาโดยขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรี มีนายกรัฐมนตรี เป็นผู้อำนวยการ รักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร มีรัฐมนตรี และหัวหน้าส่วนราชการด้านความมั่นคง เป็นคณะกรรมการอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และเพื่อรองรับตาม พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 (ตรงกับสมัย พลเอก สุรยุทธ์จุลานนท์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี)

         พ.ศ.2552 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดภูเก็ต ได้จัดตั้งขึ้นตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 179/2552 ลงวันที่ 27 กรกฎาคม 2552 เรื่อง การจัดโครงสร้างการแบ่งส่วนงาน อำนาจหน้าที่ของส่วนงาน และอัตรากำลังของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดดำรงตำแหน่ง ผอ.รมน.จังหวัด มีอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ทั้งฝ่ายพลเรือน ตำรวจ และทหาร