4. ภาคการค้าระหว่างประเทศ การค้าระหว่างประเทศของจังหวัดภูเก็ต ที่ผ่านด่านศุลกากรและด่านท่าอากาศยานภูเก็ต ในปี 2552 มูลค่าการค้า 8,100.01 ล้านบาท ลดลงจากปี 2551 ซึ่งมีมูลค่าการค้า 17,855.19 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 54.63 สาเหตุเนื่องจากในปี 2552 ประสบปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจโลกทำให้ตลาดต่างประเทศชะลอการสั่งซื้อ และไม่มีความต้องการใช้หรือความต้องการบริโภคสินค้า ในขณะเดียวกันในปี 2551 ได้เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง มีการปิดสนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินดอนเมือง ทำให้การขนส่งสินค้า (ทั้งการนำเข้าและส่งออก) ได้ใช้บริการผ่านสนามบินภูเก็ตแทน โดยมูลค่าการนำเข้าและส่งออกในปี 2552 แยกได้ดังนี้
(1) มูลค่าการส่งออก จำนวน 5,947.93 ล้านบาท ลดลงจากปี 2551 ที่มีมูลค่าการส่งออก 14,022.54 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 57.58 โดยสินค้าที่มีการส่งออกลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน ได้แก่ ยางพารา (ส่วนหนึ่งได้ออกหนังสือรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า ณ สำนักงานพาณิชย์จังหวัดภูเก็ต) มูลค่าการส่งออก 4,211.95 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 46.61 เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็คทรอนิค มูลค่าการส่งออก 514.01 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 59.32 และ ส่วนประกอบของเครื่องบิน มูลค่าการส่งออก 31.74 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 95.04
(2) มูลค่าการนำเข้า จำนวน 2,152.08 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนที่มีมูลค่าการนำเข้า 3,832.65 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 43.85 โดยสินค้าที่มีการนำเข้าลดลงเมื่อเทียบกับปี 2551 ได้แก่ ปลาทูน่า มูลค่าการนำเข้า 219.42 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 70.69 เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็คทรอนิค มูลค่าการนำเข้า 50.09 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 95.52 และ อุปกรณ์ก่อสร้าง มูลค่าการนำเข้า 91.26 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 36.48
แผนภูมิแสดงมูลค่าสินค้าการส่งออกปี 2552 (ล้านบาท)
แผนภูมิแสดงมูลค่าสินค้านำเข้าปี 2552 (ล้าน บาท)
ที่มา : สำนักงานพาณิชย์จังหวัดภูเก็ต
5. ภาคการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนของจังหวัด การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนของจังหวัดภูเก็ตในปี 2552 ชะลอตัว ซึ่งเป็นการชะลอตัวอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงไตรมาสที่ 1 โดยสาเหตุเป็นผลมาจากความวิตกกังวลต่อระดับค่าครองชีพ และการว่างงาน จากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ซบเซา รวมถึงความผันผวนของน้ำมันเชื้อเพลิงและความขัดแย้งทางการเมือง ถึงแม้รัฐบาลจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจตั้งแต่ช่วงปลายไตรมาสที่ 1 ก็ตาม โดยสะท้อนได้จากเครื่องชี้ด้านการบริโภคที่สำคัญของจังหวัดได้แก่ จำนวนยอดการจดทะเบียนรถยนต์นั่งส่วนบุคคล (เก่ง) รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล (กระบะ) และรถจักรยานยนต์ใหม่ ที่มีการจดทะเบียนลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน ร้อยละ 16.63 36.60 และร้อยละ 29.18 ตามลำดับ รวมถึงการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่มีการจัดเก็บได้ลดลงเช่นเดียวกัน โดยคิดเป็นร้อยละ 7.15
สำหรับอัตราเงินเฟ้อของจังหวัด ภูเก็ต ปี 2552 ที่วัดจากการเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปเมื่อเทียบกับปีก่อน สูงขึ้นร้อยละ 0.4 โดยเป็นการสูงขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 1 และช่วงไตรมาสที่ 4 ซึ่งสาเหตุสำคัญมาจากการสูงขึ้นของสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่ม ร้อยละ 4.5 ได้แก่ เนื้อสัตว์ เป็ดไก่ ปลาและสัตว์น้ำ ผักและผลไม้ เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ ไข่และผลิตภัณฑ์นม อาหารบริโภคนอกบ้าน ข้าว-แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง เป็นต้น ในขณะที่ดัชนีหมวดอื่นๆที่ไม่ใช่หมวดอาหารและเครื่องดื่มในปี 2552 ลดลงร้อยละ 3.1 โดยเป็นการลดลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง (ปรับลดตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก) และเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า (รัฐบาลได้มีนโยบายเรียนฟรี 15 ปี โดยให้เงินอุดหนุนในส่วนของค่าเล่าเรียนและอุปกรณ์ ส่งผลทำให้ราคาสินค้าในหมวดเครื่องนุ่มห่มลดลง) สำหรับดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน ซึ่งเป็นดัชนีราคาผู้บริโภคที่ไม่รวมรายการสินค้ากลุ่มอาหารสดและพลังงานในปี 2552 ได้ปรับตัวลดลงร้อยละ 0.2 เมื่อเทียบกับปีก่อน
แนวโน้มเศรษฐกิจการค้าของจังหวัดภูเก็ตปี 2553 คาดว่าจะปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น โดยเฉพาะเศรษฐกิจด้านอุปทานภาคการท่องเที่ยวของจังหวัด สาเหตุมาจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัว ประกอบกับมาตรการต่างๆที่ภาครัฐและเอกชน ได้ส่งเสริมและกระตุ้นด้านการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2552 ซึ่งจะส่งผลเป็นรูปธรรมและชัดเจนขึ้น นอกจากนี้ อุปทานภาคการเกษตร มีแนวโน้มปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะยางพาราที่ตลาดต่างประเทศ (จีน) มีความต้องการผลผลิตที่เพิ่มมากขึ้นเพื่อรองรับอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ สำหรับการลงทุนคาดว่าจะขยายตัว จากแรงหนุนด้านเศรษฐกิจโลกและจากการที่รัฐบาลได้มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นนโยบายการคลังของภาครัฐในการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ นโยบายการปล่อยสินเชื่อผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ตามโครงการ Fast Track และการดำเนินการภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง ที่สนับสนุนให้ภาคเอกชน มีความเชื่อมั่นและขยายการลงทุนเพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลต่อเนื่องในระบบเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตามภาวะเศรษฐกิจการค้าของจังหวัดในปี 2553 ยังคงมีปัจจัยลบที่เป็นตัวแปรสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ได้แก่ สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง และความผันผวนของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นต้น 1 / 2 / 3 / 4 / 5 / 6
|